วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

โรงเรียนสอนออกแบบเบาเฮาส์


สถาบันศิลปะเบาเฮาส์หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า The Bauhaus School of Art, craft, and design ได้รับการสร้างขึ้นมาโดยสถาปนิกที่ชื่อว่า Walter Gropius ที่เมืองไวมาร์ ประเทศเยอรมันนี ในปี ค.ศ. 1919 สำหรับคำว่า เบาเฮาส์ (building house)นั้น เป็นการสะท้อนถึงต้นตอกำเนิดในความคิดแบบสังคมนิยมที่เกี่ยวพันกับขบวนการเคลื่อนไหวทางด้านงานศิลปะและงานฝีมือ ซึ่งไม่ใช่อย่างเดียวกันกับความพยายามในช่วงต้นๆในการรื้อฟื้นพลังเกี่ยวกับผลิตผลทางงานฝีมือขึ้นมาใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด โปรแกรมต่างๆของเบาเฮาส์ได้เข้าไปอยู่ภายใต้วงแขนของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม
ปี 1919 นั้น นับเป็นปีที่สำคัญปีหนึ่งของชาวเยอรมัน เพราะเป็นปีแรกหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 [สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1914-1918] ในปีดังกล่าว บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนต่างวุ่นวายอยู่กับการจัดให้มีการประชุม เพื่อถกเถียงว่าจะมีประชาธิปไตยแบบใดกันดีในเยอรมัน ในขณะเดียวกันนั้น สถาบันศิลปะเบาเฮาส์ ได้ก่อตั้งขึ้นที่เมือง Weimar เป็นครั้งแรก
คำว่าBauhaus หากแปลเป็นภาษาอังกฤษก็คือ building house หรือ Construction Building และผู้ที่คิดคำนี้ขึ้นมาก็คือ Walter Gropius (สถาปนิก)ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งคนสำคัญและเป็นผู้อำนวยการสถาบันศิลปะ เบาเฮาส์ เป็นคนแรก เปิดดำเนินการขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 1919 ณ เมือง Weimar ประเทศเยอรมัน อันเป็นเมืองเล็กๆซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ราว 4 หมื่นคน แต่กลับเป็นจุดโฟกัสทางวัฒนธรรมที่สำคัญเพราะว่าเป็นที่ซึ่ง Gorthe และ Schiller สองนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่อาศัยอยู่


บุคคลสำคัญที่มีส่วนร่วมกับสถาบันศิลปะเบาเฮาส์

นับจากปี 1919 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถาบันศิลปะเบาเฮาส์ ได้รับการก่อตัวขึ้นมาจนกระทั่งสถาบันแห่งนี้สิ้นสุดลงในปี 1933 นั้น มีผู้อำนวยการสถาบันแห่งนี้ที่นับว่าเป็นคนสำคัญที่ได้ทำงานต่อเนื่องกันมา 3 คน ได้แก่ Walter Gropius(เป็นผู้อำนวยการตั้งแต่ปี 1919), Ludwig Mies van der Rohe(เป็นผู้อำนวยการตั้งแต่ปี 1928) และ Hannes Meyer (เป็นผู้อำนวยการตั้งแต่ปี 1930) ในส่วนของ Walter Gropius ซึ่งเป็นผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันแห่งนี้ เขาเป็นสถาปนิกที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงมาแล้วตั้งแต่อายุเพียง 36 ปี ความหวังของเขาเกี่ยวกับการก่อตั้งสถาบันสอนศิลปะแห่งนี้ขึ้นมาก็เพื่อที่จะปฏิวัติโรงเรียนศิลปะให้เป็นแบบสหศึกษา คือมีการสอนทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบตกแต่ง ออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบโฆษณา งานเซอรามิค งานถักทอเส้นใย รวมไปถึงจิตรกรรม ประติมากรรม และการละคร ฯลฯ เขาหวังจะหวนกลับไปสู่อุดมคติต่างๆของผู้สร้างโบสถ์ในสมัยกลาง(the ideals of the builder of cathedrals in the Middle ages) เพื่อสถาปนาชุมชนคนทำงานศิลปะขึ้นมา แต่เป็นเป็นที่น่าจับตาว่า งานศิลปะในแขนงต่างๆที่กล่าวถึงนี้ ล้วนถูกห่อรวมอยู่ในโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมทั้งสิ้น นอกจากผู้อำนวยการทั้ง 3 คนแล้ว ยังมีผู้ร่วมสอนคนสำคัญของสถาบัน เบาเฮาส์ แห่งนี้อีกหลายคน ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีผลงานซึ่งได้รับการสืบทอดนำเอาตำรับตำราของคนเหล่านี้มาใช้สอนนักศึกษาศิลปะไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทย อย่างเช่น Johannes Itten (ชาวสวิสส์) และ Josef Albers (จิตรกรอเมริกัน เกิดในเยอรมัน) ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องของทฤษฎีสี การค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องสี จนกระทั่งเขียนขึ้นมาเป็นตำราของเขาได้รับการนำมาแปลถ่ายทอดในหลายภาษา และนำไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมและงานออกแบบทั่วไป รวมไปถึงงานออกแบบอุตสาหกรรมศิลป์ ส่วนจิตรกรคนสำคัญ ซึ่งได้ร่วมสอนอยู่กับสถาบันศิลปะ เบาเฮาส์ และเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปะจนกระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งปัจจุบันนักศึกษาศิลปะยังคงต้องศึกษาผลงานของพวกเขาอยู่ อย่างเช่น Paul Klee(จิตรกรชาวสวิสส์), Wassily Kandinsky(จิตรกรชาวรัสเซีย), Lyonel Feininger(จิตรกรชาวอเมริกัน), และ Loszlo Moholy Nagy (จิตรกรชาวฮังกาเรียน) เป็นต้น ที่น่าสังเกตุก็คือ จิตรกรเหล่านี้ภายใต้ร่มธงของสถาบันสอนศิลปะเบาเฮาว์ ล้วนทำงานออกมาในรูปโครงสร้างมีลักษณะเรขาคณิต ที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกับงานโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม ซึ่งอยู่ภายใต้การอำนวยการของสถาปนิกทั้ง 3 คน แต่ภายหลังจิตรกรเหล่านี้ด้แยกตัวออกจากสถาบันเบาเฮาส์แล้ว พวกเขาแต่ละคนกลับมีสไตล์ผลงานจิตรกรรมที่เป็นของตัวเองอย่างเด่นชัด และเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก อย่างเช่น ผลงานจิตรกรรมของ Paul Klee และ Kandinsky โดยเฉพาะจิตรกรคนหลัง ผลงานของเขาเป็นที่น่าประทับใจและเป็นส่วนหนึ่งของที่มาในสไตล์ผลงานจิตรกรรมแบบ Abstract Expressionism


1.Walter Gropius 2.Hannes Meye 3.Ludwig Mies van der Rohe
ส่วนผสมของสถาบันศิลปะเบาเฮาส์
ก่อนการก่อตั้งสถาบันศิลปะเบาเฮาส์มีโรงเรียนที่สอนทางด้านศิลปะอยู่แล้ว ซึ่งบางโรงเรียนก็เน้นไปในเรื่องของพาณิชยศิลป์ ส่วนบางโรงเรียนก็เน้นไปในด้านงานวิจิตรศิลป์โดยตรง สำหรับสถาบันศิลปะเบาเฮาส์นั้น เป็นการรวมกันระหว่าง The School of Art and Trade กับ The School of Plastic Arts ซึ่งโรงเรียนแรกเน้นเรื่องศิลปะไปรับใช้เรื่องทางการค้า ส่วนโรงเรียนหลังมีการเรียนการสอนทางด้านศิลปะตามขนบประเพณี เป็นสถาบันวิชาการทางศิลปะ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับอาจารย์ผู้สอนศิลปะโรงเรียนหลังนี้กล่าวว่า พวกเขาไม่สามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับโปรแกรมของเบาเฮาท์ได้
การเรียนการสอนของเบาเฮาส์
ปรัชญาของการเรียนการสอนของเบาเฮาส์เป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นศิลปินหรือผู้ที่มีความสามารถเกี่ยวกับเรื่องราวของรูปทรง(master of form)ให้กลับมาสนใจในงานฝีมือ ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้คนที่มีความสามารถในงานฝีมือ(shop master)ใช้ความคิดสร้างสรรค์เช่นเดียวกับศิลปิน ฝึกฝนให้ตนเองให้เกิดความสามารถในการคิดถึงรูปทรงที่ปรากฎออกมาให้สะดุดตา
ในส่วนของข้อแตกต่างอีกข้อหนึ่งระหว่างโรงเรียนสอนศิลปะโดยทั่วไป กับสถาบันศิลปะเบาเฮาส์ที่เด่นชัดคือ สถาบันศิลปะแห่งนี้เน้นในเรื่องการสนทนาระหว่างอาจารย์ผู้สอนกับนักศึกษา การพูดคุยกันถือเป็นหัวใจสำคัญแรกสุด ทั้งนี้เพื่อจะได้ให้ครูบาอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายสาขาและมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ได้ถ่ายทอดความรู้ของตนให้กับนักศึกษา และเพื่อให้นักศึกษาแต่ละคนได้นำเอาความรู้ของผู้สอนแต่ละท่านไปสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ของตนเอง
นอกจากนี้ การเรียนของสถาบันศิลปะเบาเฮาส์ยังเน้นในเรื่องการลงมือปฏิบัติด้วย Gropius เชื่อว่า การทำงานด้วยมือถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้นักศึกษามีคุณภาพภายในและรับรู้ถึงการใช้วัสดุอย่างแท้จริง ดังนั้น นักศึกษาศิลปะจึงไม่เพียงเป็นแค่ผู้รู้ในทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังเป็นนักปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพด้วย โดยเหตุนี้ นักศึกษาของสถาบันศิลปะเบาเฮาส์จึงต้องเข้าโรงฝึกงานหรือสตูดิโอต่างๆ เช่น สตูดิโอที่เกี่ยวกับไม้, โลหะ, กระจก, สิ่งทอ, และงานเครื่องปั้นดินเผา

บั้นปลายของเบาเฮาส
แม้ว่าสถาบันศิลปะเบาเฮาส์จะมีปรัชญาการสอนที่ล้ำหน้ามากในช่วงนั้น นับจากแนวคิดของผู้ก่อตั้ง ผู้ร่วมงาน และการให้อิสระแก่นักศึกษา แต่สถาบันแห่งนี้ภายหลัง กลับต้องยุติบทบาทลงในประเทศเยอรมันนี ทั้งนี้เนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองภายในในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่ รัฐบาลและประชาชนทั่วไปยังมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม แต่เบาเฮาส์มีแนวโน้มไปทางสังคมนิยม เมื่อความขัดแย้งสั่งสมเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการบีบบังคับให้ Gropius ลาออกและปิดสถาบันศิลปะเบาเฮาส์ที่เมืองไวมาร์ลงในปี 1924
แต่ข่าวการปิดสถาบันแห่งนี้ กลับได้รับการตอบรับในลักษณะที่ยินดีจากเมืองสำคัญๆในเยอรมัน เช่น ฟรังค์ฟูร์ต, ฮาเกน, ดามสตัดต์ และเดลซา ซึ่งต่างสนใจที่จะนำสถาบันเบาเฮาส์มาสร้างในเมืองของตน นายกเทศมนตรีของเมืองเดลซาประสบความสำเร็จในเจตจำนงนี้ และได้เปิดสถาบันศิลปะเบาเฮาส์ขึ้น จนกระทั่งปี 1928 Gropius ได้ขอลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ และต้องแต่งตั้งคนอื่นดูแลแทน
ในช่วงทศวรรษที่ 1930s พรรคนาซีเยอรมันประสบชัยชนะทางการเมืองได้เป็นผู้ปกครองแอนฮอล์ท เบาเฮาส์ต้องย้ายไปอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน และได้ถูกปิดลงอย่างเด็ดขาดในเดือนเมษายน ปี 1933 (อันเป็นเดือนเดียวกันกับการก่อตั้งขึ้นมา) ซึ่งเป็นกาลอวสานของสถาบันแห่งนี้ในเยอรมัน สำหรับอาคารเรียนที่เมืองเดลซาได้ถูกพรรคนาซียึดไปเป็นที่อบรมทางการเมืองระดับหัวหน้าพรรค
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเบาเฮาส์จะถูกปิดตัวลงในเยอรมันนี แต่บทเรียนและวิธีการสอนกลับขยายออกไปมีอิทธิพลต่อโรงเรียนสอนศิลปะทั่วโลก สถาบันสอนศิลปะหลายแห่งในยุโรปและอเมริกาได้รับเอาไปปรับปรุงใช้กับสถาบันของตนเอง. Moholy Nagy ได้ไปก่อตั้ง The New เบาเฮาส์ (ซึ่งปัจจุบันคือ The Institute of Design of the Illinois Institute of Technology) ในชิคาโก นอกจากนี้ ทฤษฎีของเบาเฮาส์ยังได้ถูกนำไปใช้ในสถาบันที่มีชื่อเสียงอีกหลายแห่ง เช่นที่ ฮาร์วาร์ดในบอสตัน นิวยอร์ค และพยานหลักฐานเหล่านี้ ทำให้เบาเฮาส์ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บุกเบิกสถาบันสอนศิลปะสมัยใหม่เเห้งศตวรรษ

ไม่มีความคิดเห็น: